วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2559

พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมไทย    พระพุทธศาสนานอกจากจะเป็นศาสนาประจำชาติไทย และเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยแล้วพระพุทธศาสนายังเป็นรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมไทยอีกด้วย จะเห็นได้จากวิถีชีวิตของคนไทยที่ผูกพันอยู่กับพระพุทธศาสนา ความคิดและกิจกรรมทุกด้านของชาติไทยล้วนผสมผสานอยู่ในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา    พระพุทธศาสนาได้หล่อหลอมจิตชีวิตจิตใจและลักษณะนิสัยของคนไทย ให้เป็นผู้ที่มีจิตใจร่าเริงเบิกบาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แสดงความเป็นมิตร ยินดีในการให้แบ่งปันให้ความช่วยเหลือ เป็นคนมีน้ำใจ อันเป็นลักษณะเด่นชัดที่ชนต่างชาติประทับใจ และตั้งสมญานามเมืองไทยว่า  “สยามเมืองยิ้ม"ภาษาไทยที่มีใช้อย่างสมบูรณ์ก็เพราะเราได้นำภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตในพระพุทธศาสนามาใช้ด้วย ชื่อ จังหวัด เช่น ราชบุรี ธนบุรี เป็นต้น แม้แต่ชื่อสิ่งของที่ใช้ในปัจจุบันก็นิยมนำภาษาบาลีมาใช้ เช่นรถยนต์ เกษตรกรรม ชื่อคน วินัย วีรกรรม สุวรรณา เป็นต้น
    มารยาทในสังคมไทย ล้วนมีรากฐานมาจากหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา เช่น มารยาทในการทำความเคารพ มารยาทในการทักทายกัน มารยาทในการต้องรับแขกมารยาทในการรับประทานอาหาร มารยาทในห้องประชุม เป็นต้น
 สรุปพุทธประวัติ
ประสูติ     พระพุทธเจ้าหรือเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระราชโอรสของพระนางสิริมหามายาและพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ศากวงศ์โคตมโคตรแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ประสูติ ณ ป่าลุมพินีวันหรือพระราชอุทยานลุมพินีวัน มีอาณาเขตติดต่อกัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะในวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เวลาใกล้เที่ยง ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
การบำเพ็ญเพียร  เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระชนมายุได้ 29 พรรษา ทรงเบื่อหน่ายทางโลกเพราะทรงเห็นเทวทูต 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ จึงเสด็จออกบรรพชาเพื่อค้นหาทางดับทุกข์ให้แก่สัตว์โลก
     เมื่อพระองค์เสด็จออกบรรพชาแล้ว พระองค์ได้ไปศึกษาที่สำนักอาฬารดาบส กาลามาโคตร และสำนักอุทกดาบส รามบุตร แต่ก็ไม่สามารถหาทางดับทุกข์ได้ พระองค์จึงลาอาจารย์ทั้งสองไปศึกษาหาความรู้ด้วยพระองค์เอง     โดยเสด็จเดินทางไปจนถึงแม่น้ำคยา ซึ่งอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม อันเป็นสถานที่ร่มรื่น มีอากาศดี มีความสงบเงียบ เหมาะสำหรับการบำเพ็ญเพียรอย่างยิ่ง ในที่สุดพระองค์ทรงตัดสินพระทัยบำเพ็ญเพียรอยู่ที่นี่ โดยทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา (ความเพียรที่บุคคลทั่วไปทำได้ยาก) ดังนี้
วิธีที่ 1 ขบฟันด้วยฟัน คือกัดฟันเข้าหากันอย่างแรง เมื่อทำนาน ๆ จะเกิดความร้อนขึ้นในร่างกายจนกระทั่งมีเหงื่อไหลออกจากรักแร้วิธีที่ 2 กลั้นลมหายใจ คือ กลั้นลมหายใจให้ได้นานที่สุดทั้งปากและจมูก วิธีนี้ถ้าเต็มที่แล้วลมจะออกทางช่องหู ทำให้หูอื้อปวดศีรษะจุกเสียด เกิดความร้อนทั่วร่างกายเหมือนนั่งอยู่ในกองไฟวิธีที่ 3 อดอาหาร คือ ไม่กินอาหาร วิธีทำ คือ ค่อย ๆลดปริมาณอาหารลงจนกระทั่งตัดขาดเลย เมื่อถึงที่สุดแล้วร่างกายจะผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกและหมดเรี่ยวแรง   พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยวิธีทั้งสาม จนพระวรกายของพระองค์ซูบผอม เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ก็ยังไม่สามารถตรัสรู้ธรรมวิเศษได้ ต่อมาคืนหนึ่ง เทวดาได้นิมิตดีดพิณสามสายให้พระองค์ฟัง คือ สายที่หนึ่ง ขึงไว้ตึงเกินไป พอดีดสายก็ขาด สายที่สอง หย่อนเกินไป พอดีดเสียงจะไม่ไพเราะ สายที่สาม ขึงไว้ปานกลาง พอดีดเสียงจะไพเราะน่าฟังมาก      เมื่อพระองค์ทรงเห็นดังนั้น พระองค์ก็ทรงเปรียบเทียบกับการปฏิบัติของพระองค์ โดยพระองค์ทรงเห็นว่าการบำเพ็ญทุกรกิริยานั้นเหมือนกับพิณสายที่หนึ่งคือตึงเกินไป พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา ทรงหันมาฝึกปฏิบัติทางสายกลางคือฉันภัตตาหารตามปกติและทรงเจริญสมาธิภาวนา
ผจญมาร     หลังจากที่พระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยาและทรงหันมาเจริญสมาธิภาวนาได้ครึ่งเดือนก็ถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ตอนเช้าวันนั้น นางสุชาดา บุตรสาวของนายบ้านเสนานิคมได้หุงข้าวมธุปายาส (ข้าวสุกหุงด้วยนมโค) ไปถวายพระองค์ ตอนบ่ายพระองค์ทรงประทับพักผ่อนที่ดงไม้สาละ     ตอนเย็นพระองค์ทรงรับหญ้าคาของนายโสตถิยะพราหมณ์ 8 กำ ต่อจากนั้นทรงลาดหญ้าคาต่างบัลลังก์ทรงหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทรงนั่งพิงต้นศรีมหาโพธิ์ แล้วทรงอธิษฐานว่า แม้หนัง เอ็น กระดูกและเนื้อเลือดในกายจะเหือดแห้งไปก็ตาม หากยังไม่บรรลุโมกธรรม จะไม่ลุกขึ้นจากที่นั่งตราบนั้น   หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงเจริญสมาธิภาวนาในขณะเดียวกันพระยามารชื่อว่า พระยาวัสสวดีได้ขี่ช้างชื่อคิริเมขละ นำเหล่าเสนามารจำนวนมากเข้าไปแสดงอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ เพื่อให้พระองค์เสียสัจจะลุกจากที่ประทับจะได้ไม่ต้องตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พระองค์ก็ยังทรงประทับนั่งตามปกติมิได้หวั่นไหว พระองค์ทรงนึกพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาทุกชาติในขณะเดียวกันพระแม่ธรณีได้ผุดจากพื้นดินบิดมวยผมให้น้ำไหลท่วมบริเวณนั้น และเกิดกระแสน้ำไหลพัดพวกเสนามารพากันหนี้กระเจิดกระเจิง พระยามารจึงยอมแพ้และยกทัพกลับไป
ตรัสรู้
 หลังจากที่พระองค์ทรงชนะพระยามารแล้ว พระองค์ได้ทรงเจริญสมาธิภาวนาต่อ ในที่สุดพระองค์ได้พบความรู้ใหม่ 3 ประการ ตามลำดับดังนี้ยามที่ 1 พระองค์ทรงระลึกชาติได้ยามที่ 2 พระองค์ทรงทราบการเกิดและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายว่าเกิดมาแล้วก็ยังแตกต่างกันเพราะกรรมยามที่ 3 พระองค์ทรงรู้จักการทำอาสวะให้สิ้นไป และทรงค้นพบอริยสัจ 4 ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธและมรรค     พระองค์ทรงรู้แจ่มแจ้งเมื่อตอนใกล้รุ่งวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ณ ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราตำบลอุรุเวลาเสนานิคม รวมพระชนมายุได้ 35 พรรษา และทรงได้รับพระนามใหม่ว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”
ปฐมเทศนา
     หลังจากพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ประทับเสวยวิมุตติสุข (ความสุขที่เกิดจากความหลุดพ้นจากกิเลส) ตามสถานที่ต่าง ๆ รวม 7 แห่ง แห่งละ 7 วัน รวม 7 สัปดาห์ ในสัปดาห์สุดท้าย พระองค์ได้ตัดสินพระทัยเผยแผ่ธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้โดยทรงเห็นว่ามนุษย์เราเหมือนดอกบัว 4 เหล่า คือดอกบัวเหล่าที่ 1 อุคฆติตัญญู คือผู้มีปัญญาเฉียบแหลมเมื่อฟังคำสั่งสอนก็สามารถเข้าใจได้ทันที เหมือนดอกบัวที่โผล่พ้นน้ำแล้วพอได้รับแสงอาทิตย์ยามเช้าก็บานทันทีดอกบัวเหล่าที่ 2  วิปจิตตัญญู คือผู้มีปัญญาปานกลาง ต้องอธิบายขยายความจึงจะสามารถเข้าใจคำสั่งสอนได้  เหมือนดอกบัวที่อยู่เสมอน้ำ พร้อมที่จะบานในวันรุ่งขึ้นดอกบัวเหล่าที่ 3 เนยยะ คือผู้ที่ต้องได้รับการพร่ำสอนซ้ำแล้วซ้ำอีกจึงจะเข้าใจคำสอนได้เหมือนดอกบัวที่อยู่ให้ผิวน้ำ แต่จะโผล่ขึ้นมาบานได้ในวันต่อ ๆ ไปดอกบัวเหล่าที่ 4 ปทปรมะ คือผู้ที่โง่เขลา แม้จะพร่ำสอนอย่างไรก็ไม่สามารถเข้าใจได้เหมือนดอกบัวที่เพิ่งจะงอกอยู่ติดโคลนตม นับวันที่จะถูกเต่าหรือปลากินเป็นอาหาร ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นมาบานเหนือน้ำได้เลย
  
      เมื่อพระองค์ทรงเล็งเห็นดังนี้แล้ว พระองค์จึงตัดสินพระทัยที่จะแสดงธรรมโปรดผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก่อน ครั้งแรกนึกถึงอาจารย์อาฬารดาบส และอาจารย์อุทกดาบส แต่ท่านทั้งสองได้ถึงแก่กรรมแล้ว จึงทรงนึกถึงปัญจวัคคีย์ คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ซึ่งทั้งห้าท่านนั้นเคยอุปัฏฐากพระองค์ในสมัยบำเพ็ญทุกรกิริยา ขณะนี้ท่านทั้งห้านั้นพักอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน 
     พระองค์จึงเสด็จไปที่นั่นในตอนเย็นวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 พระองค์ประทับพักแรมอยู่กับปัญจวัคคีย์ 1 คืน พอรุ่งเช้าซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 พระองค์ก็ทรงแสดงธรรมเทศนากัณฑ์แรก หรือ เรียกว่าปฐมเทศนา ชื่อ ธัมมจักกัปปวัตนสูตรโปรดปัญจวัคคีย์
 
     ในที่สุดท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นคนแรก และได้นามใหม่ว่า อัญญาโกณฑัญญ และขอบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา จึงนับว่ามีพระสงฆ์เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก และพระรัตนตรัยครบ 3 ในวันนี้เอง ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปัจจุบันเรียกว่าวันอาสาฬหบูชา
ปรินิพพาน
      ภายหลังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ เสด็จจาริกเทศนา เผยแผ่พระศาสนาโดยไม่ทรงย่อท้อต่อความเหนื่อยยากลำบาก ทรงเห็นความหลุดพ้นจากทุกข์ของสัตว์โลกที่เป็นที่ตั้ง และทรงตั้งพระธรรมวินัยไว้เป็นหลักพระศาสนาเป็นศาสดาแทนพระองค์ด้วย ทรงรู้ล่วงหน้าถึงวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ จนพระชนมายุได้ 80 พรรษา พระองค์ทรงปรินิพพานระหว่างไม้สาละ 2  ต้น ณ ป่าไม้สาละเมืองกุสินารา ตอนใกล้รุ่งของวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
ที่มา http://innovation.kpru.ac.th/web17/551121703/innovation/index.php/1